1. ควรเลือกรูปร่างของวัตถุหรือตัวแบบที่เห็นได้ชัดเจน
Silhouette สามารถเกิดได้จากวัตถุหรือแบบต่างๆที่มีความชัด แต่ไม่ใช่ว่าจะถ่ายออกมาได้สวยงามไปทั้งหมด ก่อนที่จะถ่ายควรหาวัตถุที่มีรูปร่างหรือส่วนโค้งที่เห็นได้ชัดเจน เพราะภาพ Silhouette นั้นจะไม่สื่อออกมาเป็นสีหรือมีรายละเอียดใดๆ แต่จะเห็นเป็นเพียงเงาดำโครงร่างมืดๆเท่านั้น วัตถุหรือแบบมีรูปร่างที่โดดเด่นน่าจดจำจะทำให้ภาพดูน่าสนใจ
2. หามุมแสงที่จะถ่าย
การถ่ายภาพ Silhouette ทำได้ง่าย เพียงหาแสงที่ผ่านเข้ามาด้านหลังวัตถุหรือแบบที่ต้องการถ่าย และแสงจากฉากหน้าจะต้องสว่างน้อยกว่าฉากหลัง ปกติในการถ่ายก็อาศัยแสงจากดวงอาทิตย์ซึ่งเป็นแสงธรรมชาติที่พบเห็นได้ง่ายและสวยงามที่สุด ส่วนเวลาในการถ่ายที่ดีที่สุดคือช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและตก หรือจะใช้แสงประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้เช่นกัน
3. ปิดแฟลช
เวลาจะเริ่มถ่ายถ้ากล้องอยู่ในโหมด Auto กล้องอาจลั่นแฟลชออกมาได้ เพราะถ่ายตอนแสงน้อย จะทำให้วัตถุหรือตัวแบบสว่างขึ้นจนกลายเป็นภาพถ่ายธรรมดาไม่ใช่ภาพ Silhouette ดังนั้นก่อนถ่าย ควรปิดแฟลชทุกครั้ง
4. จัดองค์ประกอบของภาพ
สถานที่ที่เหมาะแก่การถ่ายภาพ Silhouette คือสถานที่เปิดโล่ง เช่น ชายหาด ทุ่งหญ้ากว้าง ๆ หรือริมแม่น้ำ เมื่อหาสถานที่และวัตถุ Silhouette ได้แล้ว ก็มาจัดองค์ประกอบของการถ่ายภาพ Silhouette กันต่อ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ โดยให้วัตถุหรือตัวแบบอยู่ที่ฉากหน้า ส่วนท้องฟ้าเป็นฉากหลัง ถ้าให้ดีควรเป็นช่วงที่ท้องฟ้าโปร่งและไม่มีเมฆจะดีกว่า ซึ่งช่วยเพิ่มความสวยงามในภาพได้ ส่วนการวางตำแหน่งของวัตถุกับแสงก็เป็นเรื่องที่สำคัญ
5. วัตถุหรือตัวแบบต้องโดดเด่น
ถ้าต้องการถ่ายวัตถุหลายอย่างให้อยู่ในภาพเดียวกัน พยายามอย่าให้วัตถุอยู่ใกล้กันเกินไป หรือเงาของวัตถุทับซ้อนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในฉากมีคนและต้นไม้อยู่ ควรให้คนยืนห่างหรือยืนข้างๆ ต้นไม้ และหลีกเลี่ยงการยืนหน้าต้นไม้ เพราะจะทำให้เงาของต้นไม้กับคนรวมกันจนเกิดเป็นรูปร่างใหม่ ๆ ขึ้นมา ซึ่งทำให้ผู้ที่ชมภาพสับสนว่าเป็นภาพอะไร
หากจะถ่ายเน้นเฉพาะตัวบุคคลต้องให้คนที่รับชมภาพจดจำภาพได้ง่าย ๆ โดยใช้โครงร่างของใบหน้าที่เห็นได้ชัดเจน เช่น จมูก ปากและแก้ม
6. โหมด Auto
กล้องดิจิทัลสมัยนี้ฉลาดในเรื่องการวัดแสงแบบอัตโนมัติอยู่แล้ว แม้แต่เวลาที่ต้องการภาพ Silhouette กล้องก็จะทำให้ตัวแบบสว่างขึ้นมา ดังนั้นก่อนเริ่มถ่ายให้จัดองค์ประกอบของภาพก่อน โดยวัดแสงไปยังจุดที่ท้องฟ้าสว่างที่สุดในภาพ กดชัตเตอร์ลงครึ่งนึงแล้วหันกล้องกลับไปมุมที่จัด
องค์ประกอบไว้ และถ่ายภาพได้เลย หรือจะใช้โหมดวัดแสงแบบจุด ซึ่งช่วยวัดแสงไปจุดที่ต้องการแทนการวัดแสงหลายๆ จุดในภาพก็ได้
7. โหมด Manual
ช่างภาพบางคนชอบตั้งค่าโหมด Manual มากกว่า ในการถ่ายภาพ Silhouette ให้ตั้งค่า f แคบ ๆ เช่น f8 หรือมากกว่านั้น เพื่อให้มีความชัดลึกทั้งภาพและช่วยลดความคลาดเคลื่อนของสีอันเกิดจากการเล็งกล้องไปที่ดวงอาทิตย์ ในการตั้งค่าสปีดชัตเตอร์ถ้าภาพยังมืดไม่พอ ก็ให้เพิ่มสปีดชัตเตอร์สูงๆ อีก โดยให้เริ่มที่ 1/125 ในกรณีที่วัตถุหรือตัวแบบหยุดนิ่ง หรือ 1/250 เมื่อวัตถุมีการเคลื่อนไหว
ส่วนการตั้งค่า ISO ควรตั้งให้ต่ำเท่าที่จะทำได้ เพราะขณะที่ดวงอาทิตย์กำลังตก มักอดใจไม่ได้ที่จะเพิ่มค่า ISO ให้สูงขึ้น ควรค่อยๆ เพิ่ม ISO จะดีกว่า เพราะถ้า ISO สูงเกินไป ภาพก็จะเกิด Noise ได้ แต่โอกาสในการเกิด Noise ก็ขึ้นอยู่กับกล้องแต่ละรุ่นด้วย
8. การโฟกัส
ในการถ่ายภาพ Silhouette วัตถุหรือตัวแบบที่อยู่ฉากหน้าจะต้องอยู่ในโฟกัส หากวัดแสงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เลือก Manual focus เพราะโหมดนี้จะดีกว่าการตั้งค่าแบบ Auto focus ตรงที่สามารถเลือกจุดโฟกัสได้เอง โดยเลือกโฟกัสไปที่ตัววัตถุหรือตัวแบบที่อยู่ฉากหน้า และมีอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือใช้การตั้งค่ารูรับแสง f แคบ ๆ อย่างที่บอกไปแล้วในข้อ 7 เพื่อให้ทั้งภาพชัดลึกอยู่ในช่วงโฟกัสทั้งหมด