Slider
ดูหนังเอเชีย

เทรนด์เทคโนโลยี 2020 พลิกโฉมเศรษฐกิจดิจิทัล และวิถีชีวิต 3 Smart ของคนไทย

เทรนด์เทคโนโลยี 2020 ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยและเข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจและทำให้วิถีชีวิตของคนไทยดีขึ้น ที่น่าจับตามอง และองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวอย่างไรกันบ้าง เมื่อมีความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

โกศล ทรัพย์ประเสริฐ ที่ปรึกษา บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด(มหาชน) พูดถึงเทรนด์ในปี 2020 เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตจะกลายเป็นอุปกรณ์ที่มาแรงมากขึ้น เพราะคนใส่ใจสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มองถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก

เทคโนโลยีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีที่มาแน่นอน คือ แก็ดเจ็ตที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะฮาร์ดแวร์สำหรับการใช้งานทั่วไปของผู้บริโภค อาทิ แก็ดเจ็ตสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 ที่มีคลื่นแม่เหล็กเพื่อบล็อกโมลีกุลของฝุ่น ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์เข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตของคนให้ดียิ่งขึ้น

อุปกรณ์ที่น่าสนใจอีกหนึ่งตัว คือ แก็ดเจ็ตการรีไซเคิลที่ชื่อว่า The Recycling Identifying Device หรือเรียกว่า R.I.D. อุปกรณ์ช่วยให้ผู้ใช้งานทราบว่าชิ้นส่วนของบรรจุภัณฑ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้หรือไม่ เพื่อช่วยลดปัญหาขยะที่ล้นโลกอยู่ในขณะนี้

นอกจากนี้สิ่งที่เห็นในการทำตลาด จะเริ่มมีแบรนด์ต่างๆ ออกมาแสดงจุดยืนถึงการเป็นแบรนด์รักษ์โลก ไม่ว่าจะเป็น โคคา โคล่า ประกาศ ประกาศเปลี่ยน “สไปรท์” เป็นขวดใส เพื่อการจัดเก็บรีไซเคิล หรือกระทั่งบาร์บีคิว พลาซ่า เปิดบริการเดลิเวอรี่ เสิร์ฟอาหารถึงบ้านแถมรักษ์โลก โดยใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้

ภาพ : Shutterstock

ใช้มาร์เก็ตติ้งเทคโนโลยีดันยอด

ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยในปี 2562 ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ แอร์แม็ส (Hermès) นำสินค้ามาลดราคา หรือกระทั่งนาฬิกา โรเล็กซ์ (Rolex) ต้องทำการตลาดเชิงรุก สะท้อนว่าแบรนด์ใหญ่เริ่มขายสินค้าได้น้อยลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ธุรกิจจึงต้องใช้มาร์เก็ตติ้งเทคโนโลยีเพื่อผลักดันยอดขายให้มากขึ้น โดยการใช้งานจะไม่ได้หลับหูหลับตาใช้แต่จะเป็นการใช้ที่แมทกับเรียลดีมานต์ ซึ่งจะสร้างคอนเวอร์ชัน (Conversion) คือ การทำแคมเปญโฆษณาที่มีวัตถุประสงค์ให้กลุ่มหมายเกิดการซื้อสินค้าหรือบริการมากกว่าจะเป็นแค่สร้างการรับรู้แต่เพียงอย่างเดียว

ภาพ : Shutterstock

5G จุดเปลี่ยนประเทศไทย

วีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายการวิจัยด้านโทรคมนาคม และการสื่อสาร บริษัท ไอดีซี ประเทศไทย จำกัด เล่าว่า เทคโนโลยี 5G ซึ่งมีความเร็วมากกว่า 4G ถึง 100 เท่า และประเทศไทยกำลังได้ใช้ 5G ในช่วงกลางปี 2563 ในบางพื้นที่นั้น

ไอดีซีคาดการณ์ว่าการใช้งานจริงๆ ของประเทศไทยจะเกิดขึ้นในปี 2564 จุดเปลี่ยนของประเทศไทยเมื่อมี 5G  องค์กรใหญ่จะนำเทคโนโลยีไอโอทีมาใช้ภายในโรงงานปี 2565 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ในขณะที่แรงงานที่ทักษะต่ำจะได้รับผลกระทบจากการทรานส์ฟอร์เมชั่นในอุตสาหกรรมครั้งนี้

วิถีชีวิตของคนไทยจะค่อยๆ เปลี่ยนเข้าสู่ 3 Smart โดยคาดว่าในช่วงปี 2563  โอเปอเรเตอร์หรือค่ายมือถือต่างๆ จะแข่งขันในเชิงของการทำตลาดมากกว่า ว่าแต่ละค่ายมีเครือข่าย 5G ให้บริการอย่างไรกันบ้าง

  • สมาร์ทซิตี้ (Smart City) การสร้างเมืองอัจฉริยะเพื่อทำให้คุณภาพของผู้อยู่อาศัยดีขึ้น
  • สมาร์ทไลฟ์ (Smart Life) คือ การใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตง่ายและสะดวกสบาย
  • สมาร์ทโฮม (Smart Home) เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะที่จะมีเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันนี้มีเพียงแค่กลุ่มทีวี เครื่องปรับอากาศ เป็นหลัก

สู่ยุคเริ่มต้นของ  AI แท้จริง

ที่ผ่านมาเราพูดถึง AI (Artificial intelligence) หรือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กันมานานมาก แต่ปี 2563 ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่ยุคของการเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจาก AI จะใช้ได้ต้องมีการเก็บ Big Data และต้องใช้เทคโนโลยีเกิดการเรียนรู้ในระดับหนึ่ง

องค์กรของไทยเริ่มให้ความสำคัญกับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ยังขาดนักวิเคราะห์ Big Data ที่จะเชื่อมข้อมูล แต่ปี 2563 จะเริ่มเห็นความพร้อมและนำ AI มาใช้เพื่อทำ เพอร์ซันนัลไลซ์ มาร์เก็ตติ้ง (Personalized Marketing)  เป็นการทำตลาดแบบเฉพาะเจาะจง เข้าถึงรายบุคคลที่เป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

นอกจากนี้โรงพยาบาลจะแข่งขันกันทางด้านแพลตฟอร์ม Big Data in healthcare หรือการนำข้อมูลของผู้ป่วยมาประมวลผลสุขภาพ พร้อมกับระบบการแจ้งเตือนให้เข้ารับการรักษาเพิ่มเติมตามวันและเวลาที่หมอนัด ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพไปได้ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้พัฒนา AI ไปถึงขั้นการผ่าตัด

ซูเปอร์แอปฯ เกิด แอปทั่วไปตาย

อัตราการใช้แอปพลิเคชั่นของคนไทยโดยเฉลี่ย 9 แอปฯ บนมือถือนั้น ทำให้แอปฯ ที่มีเพียงฟังก์ชั่นการใช้งานเพียงอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์และล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก

และตอนนี้ซูเปอร์แอป หรือแอปที่รวบรวมการใช้งานหลายด้านเป็นทุกอย่างของไลฟ์สไตล์ ก็แจ้งเกิดมาเรียบร้อย เช่น Line Grab แอปธนาคารต่างๆ  ที่รวบรวมการบริการทั้งดูหนัง ฟังเพลง สั่งอาหาร เดินทาง นอกจากนี้ยังจับมือร่วมกับค้าปลีก เพื่อทำรอยัลตี้โปรแกรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำดาต้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค

เทรนด์การตลาดที่เริ่มเห็น อย่าง “The 1 Biz” แอปพลิเคชั่นของกลุ่มเซ็นทรัล เริ่มสร้างอีโคซิสเต็ม รอยัลตี้โปรแกรม สะสมแต้มและแลกของ เปิดโอกาสให้พันธมิตรนอกเครือผนึกกำลังจากปัจจุบัน มีร้านค้ากว่า 1,000 ร้านค้ารวมกว่า 600 แบรนด์ที่เข้าร่วม หรือสร้าง “The 1 Biz” เป็นแอปที่มีบริการใช้งานเพิ่มขึ้น

สรุป

เทคโนโลยีจะค่อยๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือในระบบซัพพลายเชนมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการผลิต โลจิสติกส์ ซึ่งปี 2563 เป็นยุคที่การใช้ Big Data เพิ่งเบ่งบานเท่านั้น โดยจะเห็นการแข่งขัน เพอร์ซันนัลไลซ์ มาร์เก็ตติ้ง (Personalized Marketing) ที่เป็นของแท้และรุนแรงเพื่อช่วงชิงกำลังการซื้อในภาวะที่เศรษฐกิจก็ไม่ค่อยสู้ดี และแน่นอนว่าน่าจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มสมาร์ทโฮมจำนวนมากที่ออกมาทำตลาด เพื่อโหนกระแส 5G ที่จะเกิดขึ้น