Slider
ดูหนังเอเชีย

กล้องฟิล์ม คุณค่าของความช้าในยุคแห่งความเร็ว

ทุกวันนี้การสื่อสารรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถถ่ายทอด บอกเล่า และบันทึกภาพต่างๆ ที่นำเสนอเหตุการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กแทบวินาทีต่อวินาที ใครเผลอวางมือถือหรือช้าไปนิดเดียวถือว่าตกเทรนด์ แต่ทว่าทุกยุคทุกสมัย เมื่อเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป ก็มักจะมีการสวนกระแส หรือการกระทำเชิงต่อต้านขึ้นมา

เมื่อโลกหมุนเร็วมากเกินไป บางคนก็อยากใช้ชีวิตให้ช้าลง  
หนึ่งในนั้นคงเป็นกระบวนการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม เพราะกว่าจะได้รูปภาพสักรูปหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เริ่มด้วยกล้องแอนนะล็อกปรับตั้งค่าเอง เลือกฟิล์มที่ชอบจับใส่ตัวกล้อง เลือกมุมและโมเมนต์ที่จะถ่าย วัดแสง ปรับองค์ประกอบอื่นๆ และรอให้ได้จังหวะที่เพอร์เฟ็กต์ที่สุด นั่นเพราะคุณสามารถถ่ายได้แค่ 36 รูป อีกทั้งยังเช็กรูปไม่ได้ด้วย แล้วจึงกดชัตเตอร์ ทำแบบนี้ครบ 36 ครั้ง ได้ 36 รูป ต่อฟิล์ม 1 ม้วน จากนั้นนำไปส่งร้านล้างรูป รอล้าง สแกน หรืออัดภาพ ก็จะได้เห็นรูปที่เราถ่าย ดูเหมือนวิธีการเหล่านี้จะง่ายนิดเดียว แต่ถ้าเพียงใช้มือถือถ่ายรูป ใส่ฟิลเตอร์ แต่งรูป แล้วลงไอจี ทุกอย่างกลับเสร็จภายใน 2 นาที เรียกได้ว่าง่ายกว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์มเป็นไหนๆ

คุณเคยมีอาการใช้มือถือถ่ายรูปสิ่งหนึ่งซ้ำๆ กันหลายครั้งเพื่อความชัวร์ไหม
ในยุคที่การถ่ายรูปไม่มีขีดจำกัด เราสามารถถ่ายรูปซ้ำแล้วซ้ำเล่า จะถ่ายกี่รูปก็ได้ จนกว่าเม็มโมรีการ์ดจะเต็ม นั่นทำให้กระบวนการคิดก่อนถ่ายภาพๆ หนึ่งนั้นลดทอนลงไป ถ้าถ่ายพลาดก็ถ่ายใหม่ได้ ไม่ต้องคิดเยอะ ถ้าเปรียบการบันทึกภาพกับสมองมนุษย์ ก็คงเหมือนเป็นความทรงจำ บางครั้งถ้าเรายิ่งเก็บสิ่งต่างๆ ไว้เป็นความทรงจำมากๆ โดยไม่ได้คิดให้มากก่อนจะเก็บไว้ ก็อาจทำให้เกิดสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำที่รกสมอง” แต่นั่นไม่ได้แปลว่าการถ่ายรูปด้วยมือถือเป็นเรื่องผิด แต่การถ่ายภาพด้วยฟิล์มที่แต่ละภาพ แต่ละความทรงจำจะถูกคัดกรองด้วยสมอง สายตา และการใช้สมาธิ หลายคนคงรู้สึกว่าการถ่ายภาพด้วยฟิล์มนั้นตอบโจทย์คุณค่าทางจิตใจมากกว่า เพราะใน 36 ภาพของความทรงจำนั้น ผู้ถ่ายคงจะจดจำแทบทุกเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ ของความทรงจำ และนั่นคงเป็นหนึ่งในคำตอบว่าทำไมผู้คนถึงหวนกลับมาถ่ายกล้องฟิล์มกัน

©Jakob Owens/Unsplash

เสน่ห์ของรูปภาพจากฟิล์มที่แตกต่างจากกล้องดิจิทัล
สิ่งที่ทำให้หลายคนหลงใหลการถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม ไม่ใช่เพียงการปรับตั้งค่าแบบแอนนะล็อก หรือการรอคอยให้ถ่ายครบทั้ง 36 รูป แต่ยังรวมถึงฟิลเตอร์ที่ต่อให้ใช้โปรแกรม Lightroom หรือโปรแกรมแต่งภาพระดับเทพ ก็ไม่สามารถให้ความรู้สึกเหมือนกับการถ่ายภาพฟิล์มได้ อีกทั้งโทนสีที่เกิดจากการเลือกใช้ฟิล์ม หรือเกรน (film grain) ที่เกิดบนภาพที่อาจไม่ได้คมชัดแบบภาพจากดิจิทัล ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากได้ภาพโทนสีจัดจ้าน โทนสีเขียว โทนสีแดง ก็จะมีฟิล์มรุ่นที่ให้โทนดังกล่าวบนภาพของคุณได้ ฟิล์มบางรุ่นจะให้เกรนที่เนียน เหมาะกับการถ่ายคน หรือบางคนอาจชอบเกรนหยาบๆ ก็แล้วแต่จะเลือกใช้กัน ใครอยากทดลองใช้ฟิล์มที่หมดอายุถ่าย ก็จะได้ผลลัพธ์บนรูปภาพที่แตกต่างออกไปจากฟิล์มปกติ ถ้าอยากได้สีแปลกๆ แหวกแนว ก็อาจใช้การล้างฟิล์มแบบ Cross Process หรือแม้กระทั่งรูปภาพบางรูปที่เกิดจากความบังเอิญ ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพที่เกิดจากการวัดแสงผิด แสงรั่ว รูปที่ถ่ายจากต้นฟิล์ม ก็อาจทำให้ได้ภาพที่สวยและแตกต่างไปอีกแบบ นั่นจึงทำให้การถ่ายกล้องฟิล์มมีความสนุก ได้ทดลอง และให้ภาพที่มีความรู้สึกแตกต่างจากภาพที่ถ่ายโดยกล้องดิจิทัลไปโดยสิ้นเชิง

เมื่อการถ่ายรูปไม่ใช่แค่การถ่ายรูป แต่กลายเป็นการแสดงไลฟ์สไตล์
กล้องฟิล์มที่คนนิยมใช้กันส่วนใหญ่มักเป็นกล้องโบราณที่ไม่ได้มีการผลิตแล้ว แต่หาซื้อกันได้เป็นกล้องสภาพมือสอง ด้วยรูปทรงของกล้องที่ให้ความรู้สึกโบราณ วินเทจ ทำให้กล้องที่ถูกสะพายออกไปเที่ยวข้างนอกนั้น กลายเป็นหนึ่งในแอ็กเซสเซอรี่ที่บ่งบอกไลฟ์สไตล์ในการแต่งตัวของวัยรุ่นได้ โดยเฉพาะวัยรุ่นที่เกิดไม่ทันยุคที่คนยังใช้กล้องฟิล์มเป็นหลัก บางคนออกไปนั่งร้านกาแฟ หยิบกล้องฟิล์มมาวางกับแก้วกาแฟและหนังสือ แล้วก็หยิบมือถือขึ้นมาถ่าย อัพลงโซเชียล แค่นี้ก็ได้รูปชิคๆ แล้ว ส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์และกระแสกล้องฟิล์มต่างๆ เช่น การเกิดแฮชแท็ก #พ่อบ้านไลก้าขึ้นมา ที่มาจากกลุ่มที่นิยมใช้กล้องยี่ห้อ Leica นั่นเอง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่กล้องรุ่นต่างๆ ที่อาจจะเคยตกรุ่นหรือหมดคุณค่าไปแล้วในอดีต

อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นกิจกรรมบ่งบอกไลฟ์สไตล์ก็คือ กระบวนการล้างฟิล์มด้วยตนเอง กลุ่มคนที่หลงใหลกล้องฟิล์มสมัยนี้เริ่มนิยมล้างฟิล์มกันด้วยตนเองมากขึ้น เพราะเมื่อเราถ่ายรูปมาได้แล้ว การจบกระบวนทั้งหมดด้วยตัวเองคงเป็นความภูมิใจไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ฝึกสมาธิได้เป็นอย่างมาก ในปัจจุบันเริ่มมีสถานที่ที่เป็นแหล่งรวมกล้องฟิล์ม ได้มีการเปิดคอร์สเรียนสำหรับการล้างฟิล์มทั้งการล้างด้วยตนเองที่บ้าน หรือล้างในห้องมืดแบบสมัยก่อน เช่น AIR Academy และ Husband and Wife Art Farm อีกทั้งยังมีห้องมืดสำหรับให้เช่าแก่บุคคลที่สนใจเปิดให้ใช้บริการมากขึ้น

ในกระบวนถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มจากถ่ายภาพ จนถึงกระบวนการล้างฟิล์มนั้นไม่ได้ง่ายแต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป ต้องอาศัยความอดทน ใช้ระยะเวลา ความประณีต และใช้สมาธิ  สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลยในกระบวนการถ่ายภาพในมือถือ หรือดิจิทัล อีกทั้งยังสร้างคุณค่าทางจิตใจ เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละรูปนั้นต้องเกิดจากความตั้งใจ เสมือนการสร้างความทรงจำอันมีค่าที่สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งใดที่เราได้มาง่ายๆ เราก็มักจะลืมมันง่าย แต่สิ่งใดที่เราได้มายาก เราย่อมจะจดจำได้ตลอดไป